สิว(Acne) เป็นภาวะเรื้อรังทางผิวหนังที่พบบ่อย มีลักษณะตุ่มแดงกระจายที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่สิวจะพบที่บริเวณใบหน้า ลำคอ หลัง หน้าอก และไหล่ ต่อมไขมันให้สารอาหารแก่
Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนที่เป็นเชื้อประจำถิ่นที่ผิวหนัง การเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียนี้ทำให้เกิดสิวอักเสบ สิวพบในประชากรทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
สิวไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง แต่หากมีอาการรุนแรงหรือเรื้อรัง มักจะก่อให้เกิดหลุมสิว หรือแผลเป็นถาวรซึ่งส่งผลกระทบทางด้านจิตใจได้
การป้องกัน
- จัดการความเครียดและกำหนดเป้าหมายการทำงานที่เหมาะสมเพื่อจัดสรรเวลาสำหรับการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย
- รักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีความมันมาก และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชนิด water-based หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันรูขุมขน (non-comedogenic products)
- หลีกเลี่ยงการเสียดสีหรือการกดทับของผิวหนังบริเวณที่มักเป็นสิว เช่น การสวมหมวกกันน็อค การสะพายกระเป๋าเป้ การติดคอเสื้อที่รัดแน่นเกินไป การคุยโทรศัพท์
การจัดการ
- อาจพิจารณากดสิวหัวดำหรือหัวขาวด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม
- ล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นวันละสองครั้งและหลังจากทำกิจกรรมหนักๆหรือมีเหงื่อออกมาก
- ทำความสะอาดผมและจัดทรงผมไม่ให้ปรกหน้าโดยเฉพาะช่วงที่ผมมัน เพื่อลดโอกาสการเกิดรูขุมขนอุดตัน
- การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความมันหรือชนิด oil-based สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้
- การรักษาสิวอย่างเหมาะสมนั้นอาศัยเวลา ซึ่งยารักษาสิวมักจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและช่วยป้องกันการเกิดสิวเพิ่มขึ้นในอนาคต
- หลีกเลี่ยงการบีบหรือแกะสิว เนื่องจากทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อผิวหนังและเกิดแผลเป็นได้
การส่งต่อแพทย์
- หากอาการไม่ดีขึ้น แย่ลง หรือมีการกระจายตัวมากขึ้น ภายใน 8 สัปดาห์หลังจากเริ่มการรักษา
- สิวทำให้ผิวคล้ำหรือทำให้เกิดแผลเป็น
- สิวทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์ ขาดความมั่นใจ หรือมีอาการซึมเศร้า
- เป็นสิวที่มีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติและมีภาวะขนดก(hirsutism)
ทางเลือกการรักษา
ผลิตภัณฑ์สำหรับรักษาสิว
- ยากลุ่ม Keratolytics เช่น azelaic acid, Benzoyl peroxide
และ salicylic acid ช่วยผลัดเซลล์ผิว มักใช้ในการรักษาสิว ผิวหนังอักเสบ รังแค หูด หรือภาวะผิวหนังหนาผิดปกติอื่น ๆ
- Benzoyl peroxide
เป็นยาทางเลือกแรกสำหรับการรักษาสิว และช่วยลดการดื้อยาของเชื้อ Propionibacterium acnes เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดทาภายนอก
- ขนาดยาและวิธีการใช้ยา: ทาวันละ 1-2 ครั้ง หลังล้างหน้า
- คำแนะนำผู้ป่วย
- การเลือกใช้ยาควรเริ่มจากตำรับที่มีความแรงต่ำและค่อยๆ เพิ่มความแรงขึ้นเมื่อทนต่อยาได้ หรือใช้ยาในความแรงที่ต้องการแบบวันเว้นวัน
- ควรชี้แจงผู้ป่วย ให้ทราบว่าการรักษาด้วยยาจะเห็นผลที่ชัดเจน ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์
- ยากลุ่ม retinoids
เช่น adapalene, isotretinoin, tazarotene, tretinoin ออกฤทธิ์สลายสิวอุดตัน(comedolytic) และลดการอุดตันของรูขุมขน (anticomedogenic)
- ห้ามใช้ tazarotene ในหญิงตั้งครรภ์
- ขนาดยาและวิธีการใช้: ทาบางๆ บริเวณที่เป็นสิววันละครั้ง แนะนำให้ใช้ยาตอนกลางคืน
- คำแนะนำผู้ป่วย
- การเลือกใช้ยาควรเริ่มจากตำรับที่มีความแรงต่ำและค่อย ๆ เพิ่มความแรงขึ้นเมื่อทนต่อยาได้ หรือใช้ยาในความแรงที่ต้องการแบบวันเว้นวัน
- ควรชี้แจงผู้ป่วยให้ทราบว่าการรักษาด้วยยาจะเห็นผลที่ชัดเจนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์
- กรณีที่ต้องใช้ยากลุ่ม retinoids
ร่วมกับ Keratolytics ในช่วงที่เริ่มใช้ควรสลับใช้ยาวันละชนิดจนกว่าจะทนต่อยาได้ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้ยากลุ่ม retinoids
ตอนกลางคืนและใช้ยากลุ่ม Keratolytics ในตอนเช้า
- อาจพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ nicotinamide เพื่อรักษาสิวร่วมด้วยได้
ยาต้านการติดเชื้อ (ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย)
- ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานช่วยลดการเจริญของเชื้อ P.acnes และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยาในกลุ่มนี้เหมาะกับการรักษาสิวที่มีความรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมากที่ไม่ตอบสนองต่อยาชนิดทาภายนอก เช่น Benzoyl peroxide
ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาสิว แต่ควรใช้ร่วมหรือเสริมกับยาชนิดทาภายนอก
- ยากลุ่ม tetracyclines เช่น doxycycline, minocycline, oxytetracycline และ tetracycline ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ และผู้ที่รับประทานยากลุ่ม retinoids
- ควรระมัดระวังการใช้ยา minocycline เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น ปฏิกิริยาคล้ายโรคลูปัส
(lupus like reaction)
- ยาต้านการติดเชื้ออื่นๆ ที่ใช้ในการรักษาสิว ได้แก่ azithromycin, erythromycin, clindamycin และ cotrimoxazole
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น triamcinolone อาจใช้ฉีดในบริเวณที่เป็นสิวอักเสบรุนแรงเพื่อช่วยให้อาการบรรเทาลง ส่วนยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานอาจพิจารณาใช้ในระยะสั้นๆ เพื่อช่วยให้อาการของสิวดีขึ้นเร็ว อย่างไรก็ตาม หากใช้ยากลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องอาจทำให้สิวอาการแย่ลงได้
ผลิตภัณฑ์ ให้ความชุ่มชื่น ทำความสะอาด และปกป้องผิวหนัง
- ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวมักมีส่วนประกอบของ glycerin, lactic acid, lactoserum, sodium cocoyl isethionate หรือ sodium lauryl sulfate ซึ่งช่วยในการป้องกันการเกิดสิวได้
- ผลิตภัณฑ์บางชนิดมีสารช่วยป้องกันรังสียูวี เช่น bemotrizinol, bisoctrizole, octinoxate, titanium dioxide หรือ tridecyl salicylate ซึ่งอาจพิจารณาใช้ในบริเวณที่เป็นสิวได้ง่าย
ยาเม็ดคุมกำเนิด
- ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ช่วยต้านผลของแอนโดรเจนเจนต่อสิว ยาเหล่านี้มีฮอร์โมนรวม เช่น cyproterone, drospirenone, ethinyl estradiol และ levonorgestrel ยาเม็ดคุมกำเนิดจะเหมาะสมกับผู้หญิงที่มีสาเหตุของการเกิดสิว จากการมีระดับฮอร์โมนเพศชายที่สูงเกินไป ดังนั้นก่อนการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด จึงควรเข้ารับการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงความเหมาะสมของการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว รวมถึงคัดกรองว่ามีข้อห้ามใช้ยาหรือไม่ด้วยเช่นกัน
ยาปฏิชีวนะแบบเฉพาะที่
- ยาต้านการติดเชื้อแบบเฉพาะที่ เช่น clindamycin, erythromycin, metronidazole และ sodium fusidate อาจจะช่วยในการรักษาสิวอักเสบได้ และมักแนะนำให้ใช้ร่วมกับยากลุ่ม Keratolytics เพื่อช่วยลดการดื้อยา