73 จำนวนผู้เข้าชม |
08/12/2023
การคุมกำเนิด (Contraception)
หรือการป้องกันการตั้งครรภ์สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่วิธีธรรมชาติจนถึงการผ่าตัด ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การคุมกำเนิดบางวิธียังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้ และสภาวะทั่วไป เช่น ความสม่ำเสมอในการใช้ยา ระยะของโรค หรือสภาวะร่างกาย ดังนั้นการคุมกำเนิดจึงไม่สามารถหวังผลร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ การตัดสินใจเลือกวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม จึงควรปรึกษาแพทย์และคู่ครองของตน
คำแนะนำผู้ป่วย
· สามารถใช้การคุมกำเนิดหลายวิธีร่วมกันเพื่อให้มีประสิทธิภาพ ดียิ่งขึ้น
· หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือถุงยางอนามัย แตกรั่ว ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ ผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ครบจำนวนเม็ด ตามที่กำหนดเพื่อให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดสูงสุด
· ตรวจสอบวันหมดอายุของยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิดก่อนใช้เสมอ
· ปรึกษาสูตินรีแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนครอบครัว ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล
· สตรีควรได้รับการตรวจกรองเบื้องต้น ก่อนเริ่มรับประทาน ยาเม็ดคุมกำเนิด
· เมื่อผู้ป่วยลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด แนะนำดังนี้
o ถ้าลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดไม่เกิน 1 เม็ดรับประทาน ยาเม็ดที่ลืมทันทีที่ผู้ป่วยนึกได้ หลังจากนั้นรับประทานตามปกติ
o ในกรณีที่ลืมรับประทานยามากกว่า 1 เม็ดในสัปดาห์แรกของแผง ให้รับประทานยาหนึ่งเม็ดนั้นทันทีที่นึกได้ แล้วรับประทานเม็ดที่เหลือตามปกติ พร้อมกับใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน
o ในกรณีที่ลืมรับประทานยามากกว่า 1 เม็ดระหว่างสัปดาห์ที่ 2-3 ให้รับประทาน 1 เม็ดทันทีที่นึกได้ แล้วรับประทานตามปกติ ในกรณีแผงแบบ 28 เม็ด ให้ทิ้งเม็ดแป้ง แล้ว รับประทานเฉพาะเม็ดฮอร์โมนที่เหลืออยู่จนครบ จากนั้นจึงเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ต่อไปตามปกติ พร้อมกับให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน
· ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดได้ ดังนั้นควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานยาใด ๆ ในระหว่างที่รับประทานยาคุมกำเนิด
· Lactatational Amenorrhea Method (LAM) การพิจารณาใช้วิธี LAM จำเป็นต้องเข้าเกณฑ์ต่อไปนี้ทั้งหมด ได้แก่
o ไม่มีเลือดประจำเดือนหรือเลือดออกกะปริบกะปรอย ในช่วง 2 เดือนหลังคลอด
o การให้นมมีความถี่ทุก 4 ชั่วโมงในระหว่างวัน และทุก 6 ชั่วโมงในตอนกลางคืนเป็นอย่างน้อย
o เด็กทารกมีอายุไม่เกิน 6 เดือน
โดยเมื่อไม่สามารถปฏิบัติหรือมีลักษณะที่ไม่เข้ากับเกณฑ์ข้างต้นในข้อใดข้อหนึ่งหรือเริ่มมีการป้อนนมจากขวดแล้ว จะไม่สามารถใช้วิธี LAM ในการคุมกำเนิดต่อไปได้
การส่งต่อแพทย์
· เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการคุมกำเนิดได้หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
· มีการใช้ยาที่ลดประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน เช่น ยากันชัก หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด
ทางเลือกในการรักษา
ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
· ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน อาจมีส่วนผสมของฮอร์โมน estrogen (เช่น ethinyl estradiol และ mestranol) และ progestogen (เช่น chlormadinone, Cyproterone, desogestrel, drospirenone, gestodene, levonorgestrel, nomegestrol, norethisterone และ norgestrel) เท่ากัน ทุกเม็ดตลอดทั้งรอบเดือน (monophasic) หรืออาจมีส่วนผสมของฮอร์โมน estrogen และ progestin ที่แตกต่างกัน 2, 3 หรือ 4 แบบ (biphasic, triphasic และ quadriphasic) เพื่อเลียนแบบการปลดปล่อยฮอร์โมนตามธรรมชาติของ ร่างกายผู้หญิง
· ฮอร์โมนจะออกฤทธิ์ป้องกันการตกไข่ และทำให้เมือก ของเยื่อบุภายในมดลูกเหนียว ทำให้เชื้ออสุจิผ่านได้ยาก
· ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานที่มีฮอร์โมนชนิดเดียว เช่น progestin อย่างเดียว (progestin-only pill: POPs) เหมาะสมในผู้หญิงที่ให้นมบุตร สูบบุหรี่ ไมเกรน หรือมี ข้อห้ามอื่นในการใช้ยาที่มี estrogen
· ต้องรับประทานยาทุกวัน
· อาการข้างเคียง ได้แก่ ยาอาจจะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ คลื่นไส้ อาเจียน มีสิวขึ้น มีเลือดกะปริบกะปรอยในช่วงแรก การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดบางชนิด อาจเกี่ยวข้องกับ ภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ มะเร็งเต้านม จึงไม่แนะนำให้ใช้ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง
· อาจมีปฏิกิริยาระหว่างยา จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยา ที่ผู้ป่วยได้รับอยู่
ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดหรือฝัง
· ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ประกอบด้วย progestin (เช่น medroxyprogesterone, norethisterone และ levonorgestrel) ที่ออกแบบให้ค่อย ๆ ปลดปล่อยฮอร์โมนช้า ๆ เป็นเวลานานช่วงหนึ่ง ซึ่งอาจนานหลายสัปดาห์ถึงหลายปีขึ้นกับ ชนิดยาคุมกำเนิด เพื่อใช้คุมกำเนิดในระยะยาว
· ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เช่น medroxyprogesterone คุมกำเนิดได้นาน 3 เดือน ส่วน norethisterone คุมกำเนิดได้ 8 สัปดาห์ levonorgestrel มีทั้งรูปแบบยาฝังใต้ผิวหนังและห่วงคุมกำเนิด
· ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง เช่น etonogestrel, levonorgestrel ทำในรูปแท่งหรือหลอดซิลิโคนขนาดเท่าไม้ขีดไฟ ต้องผ่าตัดเพื่อฝังแท่งยานี้เข้าใต้ผิวหนัง มักฝังบริเวณแขน จะช่วยคุมกำเนิดได้ถึง 3 ปี หรือจนกว่าจะผ่าเอาออก
· ห่วงคุมกำเนิด (intrauterine devices; IUDs) บางชนิด ประกอบด้วยฮอร์โมน เช่น levo-norgestrel ช่วยคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี หรือบางชนิดมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น ทองแดง (copper) มีผลทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณโพรงมดลูกซึ่งจะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร prostaglandin ซึ่งมีความเป็นพิษต่อสเปิร์มและไข่ รวมถึงช่วยลดการฝังตัวของไข่ที่ผนังมดลูกด้วยเช่นกัน ประสิทธิภาพของห่วงคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของทองแดงจะคงอยู่ประมาณ 5-10 ปี การใช้ห่วงคุมกำเนิดควรหลีกเลี่ยงในกรณีต่อไปนี้ ได้แก่ กำลังหรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์มีความผิดปกติทางกายภาพของมดลูก มีภาวะปีกมดลูกอักเสบ มดลูกอักเสบหลังคลอดบุตรในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มะเร็งหรือเนื้องอกที่มดลูกหรือปากมดลูก เลือดออกจากมดลูกที่ไม่ทราบสาเหตุมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมน progestin หรือมีโรคตับหรือ มะเร็งตับ
ยาคุมกำเนิดรูปแบบอื่น ๆ
· ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ ที่มีส่วนประกอบของ estrogen (เช่น ethinyl estradiol) และ progestin (เช่น norelgestromin) สำหรับใช้ต่อเนื่อง 28 วัน โดยยาแต่ละแผ่นจะแปะบริเวณหน้าท้อง สะโพก ท่อนบนของลำตัว หรือด้านนอกของแขนท่อนบน ซึ่งควรเป็นบริเวณที่ไม่มีการเสียดสีหรือการรัดของเสื้อผ้า และเปลี่ยนทุก 7 วัน (สัปดาห์ที่ 1, 2 และ 3) และไม่ต้องใช้แผ่นแปะในสัปดาห์ ที่ 4 (patch-free week) ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีเลือดประจำเดือน ผู้ที่มีภาวะอ้วนไม่ใช่ข้อห้ามของการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด แต่ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 90 กิโลกรัมอาจมีประสิทธิภาพ ในการคุมกำเนิดลดลง
วิธีคุมกําเนิดอื่นๆ
· การคุมกำเนิดโดยใช้สิ่งขวางกั้น เป็นการป้องกันทางกายภาพกั้นขวางระหว่างอสุจิกับไข่ไม่ให้ปฏิสนธิกัน มักใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้ออสุจิ แต่อาจใช้เดี่ยว ๆ ได้ เช่น ถุงยางอนามัยสําหรับสตรี
· ถุงยางอนามัยสำหรับผู้ชาย ทำจากลาเท็กซ์ วัสดุสังเคราะห์ เช่น polyurethane และ polyisoprene หรือวัสดุจากธรรมชาติ
· ถุงยางอนามัยสำหรับสตรี มีลักษณะเป็นถุงพลาสติกทำจาก polyurethane ซึ่งใช้สอดใส่ในช่องคลอด ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ใช้หลักการเดียวกับถุงยางอนามัยของเพศชาย คือ เป็นการป้องกันทางกายภาพไม่ให้เชื้ออสุจิเข้าสู่มดลูก
· ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทาง เพศสัมพันธ์ของถุงยางอนามัยขึ้นกับวิธีการเก็บรักษาและการใช้ถุงยางอนามัย ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยในที่ร้อนหรือเสียดสี เช่น ในรถยนต์ กระเป๋าสตางค์ เนื่องจากทำให้ ถุงยางเสื่อมหรือฉีกขาดได้ หลีกเลี่ยงการใช้ถุงยางอนามัยร่วมกับสารที่ละลายยางได้ ถุงยางอนามัยเป็นวิธีคุมกำเนิด ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย แต่อาจทำให้ผู้ชายรู้สึกสัมผัสลดลง ผู้ที่แพ้ยาง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถุงยางอนามัย
· ยาฆ่าเชื้ออสุจิ ในประเทศไทยใช้ nonoxynol-9 โดยเคลือบกับถุงยางอนามัย สำหรับผู้ชายที่แพ้ยาฆ่าเชื้ออสุจิ ควรหลีกเลี่ยงถุงยางอนามัยที่มียาดังกล่าว และไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
· ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm หรือ Cervical cap) ใช้สอดช่องคลอดเพื่อปิดคลุมปากช่องคลอดป้องกันอสุจิเข้าไปในมดลูก โดยฝาครอบปากมดลูกจำเป็นต้องทายาฆ่าเชื้ออสุจิด้วย และต้องใส่ทิ้งไว้ก่อนมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 30 นาที และปล่อยทิ้งไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้การฆ่าเชื้ออสุจิมีประสิทธิภาพ
· ฟองน้ำคุมกำเนิด ใช้สอดช่องคลอดเพื่อป้องกันอสุจิเข้าไปในมดลูก โดยฟองน้ำนี้จะมีการชุบยาฆ่าเชื้ออสุจิไว้ด้วย ซึ่งจำเป็นต้องใส่ก่อนมีเพศสัมพันธ์และทิ้งไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดแล้วจึงทิ้งไปหากไม่มีเพศสัมพันธ์ต่อ
© 2024 Company, Inc