ฉีดวัคซีนฟรี
MED4U

โรคอุจจาระร่วง

80 จำนวนผู้เข้าชม |

08/12/2023


โรคอุจจาระร่วง

          โรคอุจจาระร่วง (Diarrhea) เป็นภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระเหลวและบ่อยผิดปกติตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย อาจเกิดจากการเปลี่ยนชนิดอาหารที่รับประทาน การย่อยอาหารบางชนิดไม่สมบูรณ์ (เช่น น้ำตาลแลคโตส ) โรคลำไส้อักเสบ ผลจากยาบางชนิด (เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของแมกนีเซียม) การติดเชื้อแบคทีเรีย อะมีบา หรือไวรัส อาการส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะทำให้มีภาวะขาดน้ำและสูญเสียเกลือแร่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โคยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที

การส่งต่อแพทย์

  • เมื่อมีอาการท้องเสียติดต่อกันมากกว่า 3 วัน หรือมากกว่า 2 วันในผู้สูงอายุ
  • มีอาการไข้ หรืออาเจียนรุนแรงร่วมกับท้องเสีย
  • มีประวัติการขับถ่ายที่เปลี่ยนไปอย่างผิดปกติ
  •  ตั้งครรภ์

 

การป้องกัน

  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด จะช่วยกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ ที่ก่อให้เกิดอาการท้องเสียที่ติดมากับมือ
    • ล้างมือด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ (ความเข้มข้นอย่างน้อย 60% โดยปริมาตรในน้ำ [v/v]) หลังจากเข้าห้องน้ำ ทำอาหารที่มีส่วนประกอบขอองเนื้อดิบ หรือไอ-จาม
  • ระมัดระวังในการบริโภคเครื่องดื่มหรืออาหาร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค
    • รับประทานผักผลไม้ที่ล้างหรือปอกเปลือกด้วยตนเอง
    • รับประทานอาหารที่ล้างทำความสะอาดอย่างเหมาะสม และปรุงสุกหรือผ่านการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม
    • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาหรือกินน้ำแข็งที่ทำจากน้ำประปา

การจัดการ

  • ดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไป และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงอาหารมัน ย่อยยาก หรือผลิตภัณฑ์นม ต่างๆ

 

ทางเลือกในการรักษา

ยาแก้ท้องเสีย (Antidiarrheals)

  • สารเพิ่มกากและสารดูดซับ (Bulk-Formers and Ad-Sorbents) เช่น activated charcoal, attapulgite, kaolin และ smectite จะดูดน้ำและพองตัวทำให้อุจจาระเป็นก้อนเหลวน้อยลง สารเหล่านี้ยังดูดซับสารพิษที่ทำให้ท้องเสีย แต่สารดูดซับพิษเหล่านี้อาจทำให้พิษถูกขับออกช้าลง ดังนั้นไม่ควรใช้สารเหล่านี้นานเกินกว่า 2 วัน และไม่ควรใช้เมื่อมีอาการไข้ร่วมด้วย

·        Kaolin เป็นสารที่มักใช้ร่วมกับยาแก้ท้องเสียชนิดอื่นๆ เช่น pectin

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น furazolidone, nifuroxazide และ paromomycin อาจใช้ในการรักษาท้องเสียจากการติดเชื้อ
    • ยากลุ่ม fluoroquinolone เช่น ciprofloxacin, norfloxacin และยากลุ่ม tetracyclines เช่น doxycycline เป็นยาปฏิชีวนะที่เหมาะแก่การรักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้ออหิวาต์ จากเชื้อVibrio cholerae ซึ่งมีอาการท้องร่วงรุนแรง อุจจาระไหลพุ่งลักษณะเหมือนน้ำซาวข้าว อาเจียนโดยไม่มีอาการปวดท้องหรือคลื่นไส้นำมาก่อนและมักมีอาการขาดน้ำอย่างรุนแรง การใช้ยา doxycycline อาจรบกวนการสร้างกระดูกฟัน ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ส่วนยากลุ่ม fluoroquinolones ควรรับประทานก่อนอาหารและหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมนมหรือยาลดกรด หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมและหลีกเลี่ยงการใช้ในเด็กเล็ก (ต่ำกว่า 6 ปี)
  • Antimuscarinics เช่น dicycloverine อาจนำมาใช้กับความผิดปกติของกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ โดยลดแรงตึงของกล้ามเนื้อเรียบและลดการเคลื่อนไหวของลำไส้
  • ยาต้านท้องเสียสูตรผสม ที่มีส่วนประกอบของยาปฏิชีวนะ เช่น furazolidone, สารดูดซับ เช่น kaolin และยาต้านอะมีบา เช่น diiodohydrozyquinoline รวมถึงต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น neomycin, rifaximin อาจใช้ในการรักษาท้องเสียจากการติดเชื้อได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีการจำกัดการใช้ diiodohydrozyquinoline เนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาท รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความเข้ากันของการผสมสารดูดซับ (kaolin) กับยาปฏิชีวนะที่อาจขัดขวางการออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อของยาและทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วยได้ ทำให้ยาสูตรผสมของยาข้างต้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือถอนทะเบียนตำรับยาได้
    • ตำรับยาบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของเกลือ bismuth ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมานอ่อนๆ และอาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียได้
  • Probiotics เป็นจุลชีพที่ยังมีชีวิตที่ใช้เสริมการรักษาภาวะท้องเสียเฉียบพลันในเด็ก และป้องกันการเกิดท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งสายพันธุ์ที่มีการใช้ในภาวะท้องเสีย ได้แก่
    • Saccharomyces boulardii (CNCM l-745) มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะท้องเสียจากการติดเชื้อ ป้องกันการเกิดภาวะท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือท้องเสียจากการให้อาหารผ่านทางสายยาง รวมถึงใช้เสริมกับยา vancomycin/metronidazole ในการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ Clostridium difficile
    • Bacillus clausii มีประโยชน์ในการรักษาและป้องกันอาการท้องเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะ
    • Lactobacillus acidophilus อาจใช้ในกรณีท้องเสียที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน
    • Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium animalis ssp. lactis อาจช่วยลดการเกิดอาการท้องเสียภายหลังจากการรักษาภาวะติดเชื้อ H.pylori ได้
    • Bovine colostrum อาจใช้เพื่อช่วยลดความถี่และระยะเวลาของอาการท้องเสีย

ยาต้านอะมีบา (Antiamoebics)

  • ยากลุ่ม nitroimidazole เช่น metronidazole และ tinidazole สามารถใช้ในการรักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้ออะมีบาได้
    • คำแนะนำเพิ่มเติม
      • แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการรับประทานยากลุ่มนี้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ propylene glycol ในระหว่างและอย่างน้อย 3 วัน หลังจากรับประทานยามื้อสุดท้าย เพื่อป้องกันการเกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หน้าแดง
      • แนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยา tinidazole พร้อมอาหาร เพื่อลดอาการคลื่นไส้ หรืออาการไม่สบายท้องอื่นๆ

อิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes)

  • การดูแลภาวะท้องเสียเบื้องตันคือการชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่เสียไป องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้สารละลายเกลือแร่ชนิดรับประทาน (oral rehydration solution: ORS) ที่มีลักษณะดังนี้
    • ออสโมแลลิตี้อยู่ในช่วง 200-310 mOsm/L ซึ่งมีความเข้มขันของน้ำตาล 20g/L หรือ 111 mmol/L เกลือโซเดียม 60-90 mEq/L โพแทสเซียม 15-25 mEq/L ซิเตรต 8-12 mmol/L และคลอไรด์ 50-80 mEq/L
    • ขนาดและวิธีการบริหารยา (Dosage & Administration):

ระดับของภาวะขาดน้ำ

ขนาดการรับประทาน

ไม่มีภาวะขาดน้ำ

1 มิลลิลิตร (มล.) ต่อปริมาณอุจจาระที่ถ่าย 1 กรัม หรือ 10 มล./น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม (กก.) ทุกครั้งที่ถ่ายท้อง และ 2 มล./กก. ทุกครั้งที่อาเจียน

มีภาวะขาดน้ำเล็กน้อยถึงปานกลาง

50-100 มล./กก. ค่อยๆ แบ่งให้ภายใน 4 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะให้ในปริมาตร 10 และ5 มิลลิลิตร/กิโลกรัม ในแต่ละครั้งที่มีการอุจจาระหรืออาเจียน ตามลําดับ

 

  • การทดแทนเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำจะให้ในผู้ที่มีภาวะท้องเสียหรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือไม่สามารถรับประทานสารละลายเกลือแร่ทางปากได้

 

© 2024 Company, Inc