ฉีดวัคซีนฟรี
MED4U

ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

349 จำนวนผู้เข้าชม |

08/12/2023


  ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis หรือ Atopic Eczema) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ มีอาการคันมาก ผิวหนังแห้งอักเสบและมีอาการกำเริบเป็นระยะๆ ซึ่งพบได้บ่อยในทารกและเด็ก (60-85%) และสามารถพบได้ในผู้ใหญ่เช่นกัน สาเหตุของผื่นภูมิแพ้ผิวหนังยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ในผู้ที่มีประวัติครอบควัวเป็นโรคหืด เยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบว่ามีโอกาสเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมากกว่าปกติในทางกลับกัน 80% ของเด็กที่ป่วยด้วยอาการนี้ ก็มีโอกาสป่วยเป็นเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และหอบหืด ปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้ผิวหนังคันหรือระคายเคือง ได้แก่ สารก่อการระคายเคือง เช่น สารเคมี ตัวทำละลาย สบู่ ผงซักฟอก น้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวบางชนิด ผ้าบางชนิด และควัน สารก่อภูมิแพ้ เช่น อาหารบางชนิด ไรฝุ่น สะเก็ดจากผิวหนังสัตว์ และมลภาวะ นอกจากนี้ อุณหภูมิและความชื้นของอากาศ เหงื่อ การติดเชื้อ ผิวแห้งและความเครียดของอารมณ์และจิตใจก็มีผลทำให้อาการผื่นภูมิแพ้ผิวหนังกำเริบได้เช่นกัน

การป้องกัน

  • ผู้ที่ผิวแห้งหรือผิวหนังอักเสบได้ง่าย ควรหลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง เช่น สบู่บางชนิด ผงซักฟอก เสื้อผ้าเนื้อหยาบๆ สากๆ ครีมหรือโลชั่นที่เหนียวเหนอะหนะ ไรฝุ่น พรม ขนสัตว์ เป็นต้น
  • ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยป้องกันอาการกำเริบได้ เช่น ทาสารให้ความชุ่มชื้น (moisturizer) หลังอาบน้ำภายใน 3 นาที ก่อนที่น้ำที่ผิวหนังจะเริ่มระเหย เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ
  • ควรเลือกใช้เครื่องสำอางประเภทที่มีโอกาสแพ้น้อย
  • ควรใช้สบู่อย่างอ่อน เช่น สบู่เด็กหรือสารทำความสะอาดทดแทนสบู่ทั่วไป

การจัดการ

  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำบ่อยๆ ควรอาบน้ำไม่เกินวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากการอาบน้ำบ่อยเกินไปทำให้ผิวแห้ง
  • หลังการอาบน้ำ ใช้ผ้าขนหนูซับผิวให้แห้ง ไม่เช็ดหรือถูแรงๆ แนะนำให้ซับตัวหมาดๆ
  • แนะนำให้ซักเสื้อผ้าด้วยผงซักฟอกอย่างอ่อน ไม่ควรใช้น้ำยาซักผ้าขาวและน้ำยาปรับผ้านุ่ม
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือถูแรงๆ การเกาทำให้ผิวหนังหนาขึ้น สีเข้มขึ้น และก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย

การส่งต่อแพทย์

  • เมื่ออาการผื่นไม่ดีขึ้นหรือยังคงมีอาการอยู่ แม้จะใช้ยาและจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสมแล้วก็ตาม
  • ผื่นที่เกิดขึ้นมีลักษณะเฉียบพลัน รุนแรง เป็นวงกว้าง และมีอาการปวดร่วมด้วย
  • มีอาการคันมาก ร่วมกับผิวหนังแตก มีเลือดออก เป็นแผลพุพอง หรือผิวแห้งที่มีอาการปวดร่วมด้วย
  • มีลักษณะของการติดเชื้อ เช่น มีหนองไหลจากผิวหนัง

 

ทางเลือกในการรักษา

ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิว (Emollients and Skin Protectives)

  • การใช้สารให้ความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีจัดการปัญหาผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ที่ดี และสามารถใช้ร่วมกับยารักษาอาการอื่น ๆ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือยาทากลุ่ม calcineurin Inhibitors ในขณะที่มีอาการกำเริบได้เช่นกัน
  • การจัดการและบรรเทาอาการของผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ดังต่อไปนี้ได้
  • สารทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื้นและสารปกป้องผิว เช่น caprylic/capric triglyceride, calendula oil, ceramide, dimeticone, eucerite, glycerin, hyaluronic acid, lactic acid, lecithin, liquid paraffin, mineral oil, pentyleneglycol, polyglyceryl methacrylate, propylparaben, saccharide isomerate, shea butter, squalane, telmesteine, urea, zinc oxide.
  • ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิวจากการระคายเคือง โดยอาจใช้ทาผิวโดยตรงหรือผสมน้ำอาบได้
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของ palmitoylethanolamide, glycyrrhetinic acid อาจช่วยลดอาการผิวแห้งในผู้ที่มีผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ได้
  • ครีมสูตรผสมระหว่าง glycyrrhetic acid telmesteine และ Vitis vinifera อาจช่วยลดอาการคัน และลดการอักเสบของผิวหนัง ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ โดยมีข้อบ่งใช้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และสามารถใช้ยาทุกวันเพื่อควบคุมอาการของโรค
  • ขนาดยาและการบริหารยา: สามารถใช้ผลิตภัณฑ์นี้ได้บ่อยตามต้องการ และควรทาผลิตภัณฑ์บางๆ ลงบนผิว โดยทาไปในทิศเดียวกับเส้นขน และหลีกเสี่ยงการขัดหรือขยี้ผิวหนังอย่างรุนแรง
  • คำแนะนำเพิ่มเติม: รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายนั้นมีความจำเพาะกับผู้ป่วย เช่น กรณีที่มีอาการผิวแห้งปานกลางหรือรุนแรง อาจพิจารณาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นขี้ผึ้งหรือหากมีอาการไม่รุนแรง อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ครีมหรือโลชั่นก็เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์บางชนิดอาจทำให้ผิวหนังไวต่อการแพ้ใด้ ดังนั้นควรมีการทดสอบ โดยทาที่บริเวณหลังมือก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดปัญหาและสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ในระยะยาวได้

คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก (Topical Corticosteroids)

  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอกช่วยบรรเทาอาการคันจากผิวหนังอักเสบได้หลายชนิด
  • กรณีที่มีอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาใช้ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่มีความแรงต่ำหรือปานกลาง
  • ขนาดยาและวิธีบริหารยา
    • ทาวันละ 1-2 ครั้ง และหยุดใช้ยาเมื่ออาการหาย
    • ปริมาณยาทาที่ใช้จะขึ้นกับขนาดของผื่นที่เกิดขึ้นและตำแหน่งของผื่นที่เกิดขึ้น โดยหน่วยวัดปริมาณยาที่แนะนำเรียกว่า finger tip unit (FTU) ซึ่งเป็นปริมาณยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่บีบจากปลายนิ้วชี้จนถึงข้อพับแรกของนิ้วชี้
  • คำแนะนำ: แนะนำให้เว้นระยะเวลาการทายาคอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างน้อย 15-20 นาทีหลังจากที่ทาสารให้ความชุ่มชื่นผิวหนัง และควรใช้ยาทานี้เฉพาะเวลามีอาการ
  • ยาทาคอร์ติโคสเตียรอยด์ความแรงสูงหรือสูงมากควรเก็บไว้ใช้ในกรณีที่มีอาการผื่นหรือผิวหนังอักเสบรุนแรงเท่านั้น

ยาแก้แพ้และยาต้านฮีสทามีน

  • ยาต้านฮีสทามีน (รุ่นที่ 1 และ 2) บรรเทาอาการแพ้จากการยับยั้งตัวรับฮีสทามีนชนิดที่ 1
  • ยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ เช่น brompheniramine, chlorpheniramine, cyproheptadine, diphenhydramine, tripolidine เป็นยาที่ละลายในไขมันได้ดี ทำให้สามารถผ่านเข้าสมองได้มาก ส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม ความสามารถในการทำงานและความรวดเร็วในการตอบสนองลดลง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังการใช้ยาในระหว่างการทำงาน ขับขี่ยานพาหนะ นอกจากนี้ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการ ปากแห้ง คอแห้ง หรือปัสสาวะคั่ง ซึ่งควรหลีกเลี่ยงหรือลดขนาดการใช้ยาในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยต้อหินมุมปิดผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • คำแนะนำ: ควรอธิบายให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานกับเครื่องจักร ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่รับประทานยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 1
  • ยาต้านฮีสทามีนรุ่นที่ 2 เช่น bilastine, cetirizine, desloratadine, fexofenadine, levocetirizine, loratadine, rupatadine มีผลทำให้ง่วงซึม ปากแห้ง คอแห้ง น้อยกว่ารุ่นที่ 1
  • Rupatadine ควรระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่มีภาวะQTc prolongation, ภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำรวมถึงการใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ ที่มีผลทำให้เกิด QTc prolongation หรือยาที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4
  • คำแนะนำ: ควรแจ้งผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่รับประทานยากลุ่มนี้

ยากลุ่มกดภูมิคุ้มกัน (Immunosuplessants)

  • Cyclosporin เป็นยาในกลุ่มกดภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพดี กรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาในเบื้องต้น แต่ยานี้หมาะกับการใช้ในระยะสั้นและควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงและการทำงานของไตผิดปกติได้

ยาทากลุ่ม Calcineurin Inhibitors

  • Pimecrolimus และ tacrolimus เป็นยาในกลุ่ม calcineurin inhibitors การยับยั้ง calcineurin ช่วยลดการอักเสบและอาการของผื่นภูมิแพ้ ยากลุ่มนี้อาจจะเรียกว่า nonsteroidal immunomodulators ยาประเภทนี้อยู่ในรูปครีมขี้ผึ้งหรือครีม และเป็นทางเลือกใหม่แทนการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในการรักษาอาการภูมิแพ้ทางผิวหนัง ในช่วงสัปดาห์แรกของการใช้ยา ผู้ป่วยอาจมีอาการแสบ ร้อน หรือแดงได้ และควรหลีกเลี่ยงการทายาในบริเวณผิวที่คาดว่าจะเป็นมะเร็ง รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานานๆ
  • ยาในกลุ่มนี้จำเป็นต้องทาวันละ 2 ครั้งในบริเวณที่มีอาการ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อใช้ติดต่อกันไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หากใช้จนครบ 2 สัปดาห์ (สำหรับ tacrolimus) หรือ 6 สัปดาห์ (สำหรับ pimecrolimus) และอาการยังไม่ดีหรืออาการแย่ลงควรหยุดใช้ยาและกลับไปพบแพทย์ทันที

ยาฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง (Skin Antiseptics)

  • ยาระงับเชื้อที่ผิวหนัง เช่น povidone-iodine, chlorhexidine, Chloroxylenol, lactic acid, lactoserum และ copper sulfate ใช้เพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพ ซึ่งอาจพบในบริเวณผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

ยาต้านฮีสทามีนและยาแก้คันชนิดทาภายนอก (Topical Antihistamines & Antipruritics)

  • ยาต้านฮีสทามีนชนิดทาภายนอก เช่น chlorpheniramine, chlorphenoxamine, dimethindene,diphenhydramine และ mepyramine และยาทาแก้คันที่มีส่วนประกอบ เช่น calamine, calcium undecylenate, crotamiton และ phenol อาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกันเพื่อบรรเทาอาการคันจากผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ได้

ยาฆ่าเชื้อชนิดทาภายนอกที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Topical Anti-Infectives with Corticosteroids)

  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกบางชนิดจะมียาฆ่าเชื้อแบคทีเรียผสมอยู่ เช่น bacitracin, chloramphenicol, chlortetracycline, clioquinol, gentamicin, gramicidin, kanamycin, metronidazole, mupirocin, neomycin, nitrofurazone, oxytetracycline, polymyxin B, sodium fusidate และ sulfisomidine ใช้เพื่อรักษาการติดเชื้อที่อาจเกิดร่วมกับผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้
  • ยากลุ่ม Human monoclonal antibody เช่น dupilumab ซึ่งยับยั้ง interleukin-4 และ interleukin-13 มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ป่วยผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้จากการใช้ยาทา

 

© 2024 Company, Inc